การสำรวจระดับโลกของ Catalyst พบว่า พนักงาน 92% กำลังประสบภาวะหมดไฟจากความเครียดที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ทำงาน ประสบการณ์การทำงานในช่วงโควิด-19 และ/หรือ ชีวิตส่วนตัว ซึ่งถือเป็น "วิกฤตการทำงาน"
ขณะที่นักวิจัยกล่าวว่า แนวทางในการแก้ไขเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน รวมถึงผลิตภาพ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่การรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กร และการยอมรับความแตกต่าง คือการทำงานทางไกล โดยการค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสูญเสียงานในช่วงการแพร่ระบาดอย่างไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับผู้ชาย
งานวิจัยในหัวข้อ การทำงานทางไกลช่วยเพิ่มผลิตภาพและระงับภาวะหมดไฟ (Remote-Work Options Can Boost Productivity and Curb Burnout) ได้ทำการสำรวจพนักงานเกือบ 7,500 คนทั่วโลก และให้นิยาม "ภาวะหมดไฟ" ว่าเป็น "ความเหนื่อยล้าทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากความเครียดสะสมและส่งผลกระทบเชิงลบ รวมถึงการไม่มีใจทำงาน และความรู้สึกไร้ประสิทธิภาพในอาชีพ" ซึ่งการศึกษานี้เป็นรายงานฉบับแรกของการวิจัยความเท่าเทียมในอนาคตการทำงาน (Equity in the Future of Work) ของ Catalyst
จากการวิเคราะห์รายงานนั้น ดร.ทารา แวน บอมเมล ซึ่งเป็นผู้เขียน ได้แบ่งภาวะหมดไฟออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การหมดไฟจากการทำงาน การหมดไฟจากการทำงานช่วงโควิด-19 และการหมดไฟจากเรื่องส่วนตัว
ซึ่งการทำงานทางไกลช่วยระงับอาการหมดไฟทั้ง 3 ประเภทนี้ได้แม้กลุ่มตัวอย่างจะมีตัวแปรแตกต่างกัน เช่น เพศหรือสถานะการเลี้ยงดูบุตร โดยข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ได้ผลกับผู้หญิงในที่ทำงานนั้นได้ผลกับทุกคนเช่นกัน
ข้อมูลแสดงให้เห็นว่า เมื่อบริษัทต่าง ๆ เสนอทางเลือกในการทำงานทางไกล ซึ่งรวมถึงสถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่น ทีมงานกระจายตัว และ/หรือ การทำงานผ่านทางออนไลน์/การทำงานทางไกล/การทำงานจากบ้าน ส่งผลให้พนักงานมีอาการหมดไฟในที่ทำงานลดลง 26% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ทำงานทางไกล
นอกจากนี้ การที่พนักงานมีสิทธิ์ทำงานทางไกลและหัวหน้างานแสดงความเห็นอกเห็นใจ ส่งผลให้อาการหมดไฟในที่ทำงานลดลง 43% เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์ทำงานทางไกลหรือหัวหน้างานไม่แสดงความเห็นอกเห็นใจ
ขณะเดียวกัน การศึกษาพบว่าพนักงานที่มีสิทธิ์ทำงานทางไกลมีแนวโน้มมองหางานใหม่สำหรับปีหน้าน้อยลง 30% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีสิทธิ์ทำงานทางไกล นอกจากนี้ ผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบเลี้ยงดูบุตรมีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานน้อยลง 32% เมื่อสามารถทำงานทางไกล เทียบกับผู้หญิงที่ต้องเลี้ยงดูบุตรแต่ไม่สามารถทำงานทางไกลได้
ไม่น่าแปลกใจที่รายงานดังกล่าวพบว่า การคาดหวังให้พนักงาน "พร้อมทำงานตลอดเวลา" ไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืนอีกต่อไป และได้แนะนำวิธีแก้ปัญหาสำหรับองค์กรเพื่อช่วยระงับอาการหมดไฟดังต่อไปนี้
- กำหนดนโยบายทำงานทางไกลที่ระบุความคาดหวังของพนักงาน ผู้จัดการ และทีมงานอย่างละเอียด
- พัฒนาทักษะของผู้จัดการด้านการบริหารทีมงานจากทางไกลอย่างครอบคลุม
- ลงทุนพัฒนาโครงการและมอบค่าครองชีพสำหรับพนักงานที่ต้องการทางเลือกในการดูแลบุตรเพิ่มเติม
- ทำให้การรับฟังแบบเอาใจใส่เป็นเรื่องปกติ ด้วยการพูดคุยเป็นประจำและโอกาสอื่น ๆ เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน
ลอร์เรน แฮริตัน ประธานและซีอีโอของ Catalyst กล่าวว่า "การหมดไฟนำไปสู่การลาออก แต่สามารถบรรเทาได้ด้วยนโยบายการทำงานทางไกล รวมถึงความเป็นผู้นำที่เห็นอกเห็นใจและยอมรับความแตกต่าง ซึ่งตัวเลือกการทำงานทางไกลและยืดหยุ่นที่นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรเข้าถึงบุคลากรมากความสามารถได้มากขึ้นและมีอัตราการลาออกน้อยลง รวมถึงมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่และผลิตภาพเพิ่มขึ้น"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น