วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

๑๐๐ ปีชาตกาล คุณรัญจวน อินทรกำแหง แม่ครูแห่งธรรมมาตา มีธรรมเป็นแม่ มีแม่เป็นธรรม

 

        ในโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพขอย้อนรอยเส้นทางชีวิตอาจารย์รัญจวน จนถึงแก่นธรรมที่ท่านนำมาวางหลักสูตร “ธรรมมาตา” ซึ่งพวกเราเชื่อว่า บางอย่างอาจตอบโจทย์ชีวิตของผู้อ่านขณะนี้ได้   

I กว่าจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์แม่ก็ตายเสียแล้ว

        อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวทำอะไรได้อย่างนี้... ก็เพราะแม่ทั้งนั้น แม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ กว่าจะรู้ธรรมะที่เป็นประโยชน์ แม่ก็ตายเสียแล้ว อยากตอบแทนเพศแม่ด้วยการสร้างสถานที่ให้สตรีฝึกปฏิบัติจนสามารถบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเหมือนผู้ชาย เพราะถ้าสตรีมีธรรมะก็จะอบรมลูกให้เป็นยุวชนที่ดี สันติภาพก็จะเกิดในโลก

II ชีวิตกลายเป็นของหนัก

        เคยรับราชการ เป็นครู เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ประธานศูนย์ความเข้าใจอันดีระหว่างชาติ ประธานสภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับพระราชทานเครื่องราชฯ ฯลฯ ชีวิตเหมือนประสบความสำเร็จ แต่วิถีปุถุชนย่อมหนีไม่พ้นความทุกข์

        ทั้ง ๆ ที่มิได้อดมื้อกินมื้อ งานการก็พอมีพอทำ ชื่อเสียงความสำเร็จก็พอมีพอได้ แต่เพราะไม่รู้จักอิ่มรู้จักพอ ชีวิตก็กลายเป็นของหนัก เพราะไม่อาจสนอง “ใจที่อยาก” ให้หนำได้

        หากปล่อยชีวิตตกจมอยู่ในความทุกข์ ดูจะไม่คุ้มกับที่ได้เกิดมา จึงตัดสินใจหันชีวิตเข้าสู่หนทางธรรม

 III ปฏิบัติให้มาก รู้ธรรมชาติของจิตที่หลุกหลิก เจ้าเล่ห์ ให้จงได้

        เริ่มไปปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์ชา สุภัทโท หลวงพ่อท่านไม่พูดมาก ไม่สอนมาก แต่กระตุ้นส่งเสริมแนะนำให้ปฏิบัติให้มาก ปฏิบัติที่จิต ดูจิต ข่มขี่จิต อย่าตามใจความดิ้นรนทะยานอยากของมัน ดูให้รู้จักธรรมชาติสันดานของจิตที่หลุกหลิก เจ้าเล่ห์ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสนี้ให้จงได้

        พอเริ่มจะรู้หนทางดำเนินในทางธรรม ในสิ้นพรรษานั้นเอง หลวงพ่อก็อาพาธ สอนไม่ได้ อบรมไม่ได้ดูเถิด! เพียงเริ่มต้นเท่านั้น อนิจจังก็แสดงธรรมชาติของมันให้เห็นชัดประจักษ์ใจ จากนี้จะไปไหน จะทำอย่างไร เพราะการแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมสำหรับผู้หญิงนั้นมิใช่ง่าย มิตรอาวุโสท่านหนึ่งถามกึ่งแนะนำว่า “ทำไมไม่ลองไปอยู่สวนโมกข์?”

IV  อ่านมามากพอแล้ว เดี๋ยวนี้ให้อ่านแต่หนังสือเล่มใน

        เมื่อไปถึงสวนโมกข์ตอนเช้าตรู่ (ปลายเดือนกันยายน 2525) เจ้าประคุณท่านอาจารย์พุทธทาสนั่งอยู่ที่ม้าหินหน้ากุฏิท่าน จำได้ว่า กราบนมัสการท่านแล้วก็พูดเล่าอะไรต่าง ๆ ที่เป็นความรู้สึกอยู่ในใจขณะนั้น สิ่งที่พูดที่เล่าดูล้วนแต่แสดงความดี ความเสียสละของตัวเองที่หันชีวิตเข้าสู่ทางธรรม แล้วยังแสดงความอวดรู้ในทางธรรมอีกไม่น้อย

        ท่านอาจารย์นั่งฟังด้วยความปกติ ไม่แสดงอาการว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ... เมื่อท่านปล่อยให้พูดจนสมใจอยากแล้ว ท่านก็บอกให้ไปพักผ่อนเสียก่อนแล้วจึงไปหาท่านอีก

        ตอนเย็นไปกราบนมัสการท่านเพื่อกราบเรียนถามวิธีการปฏิบัติ เวลาไปก็มีรายชื่อหนังสือแผ่นยาวติดไปด้วย ... ก็เริ่มต้นด้วยการอ่านรายชื่อหนังสือให้ท่านฟัง ... แล้วจบด้วยคำถามว่า ท่านอาจารย์โปรดแนะนำให้อ่านอะไรก่อนหลัง เพื่อจะได้มีความรู้ความเข้าใจธรรมะไปตามลำดับจากเบื้องต้นไปเบื้องปลาย และสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่จิตได้

        คำตอบของท่านอาจารย์คือ “ไม่ต้องอ่านสักเล่มเดียว! หยุดอ่านได้ เพราะอ่านมามากพอแล้ว เดี๋ยวนี้ให้อ่านแต่หนังสือเล่มใน”

        ท่านพุทธทาสย้ำชัดว่า “ในบรรดาความยึดมั่นถือมั่นอันเป็นต้นเหตุของความทุกข์นั้น ความยึดมั่นถือมั่นในความเป็น ‘ตัวฉัน’ นี่แหละคือรากเหง้าของความทุกข์ทั้งปวง”

        ถ้าสลัดความยึดมั่นถือมั่นในตัวฉันออกไปเสียได้ ความทุกข์ทั้งปวงย่อมสลายไปสิ้น เพราะมันไม่มี “ตัวฉัน” ที่จะเป็นทุกข์อีกต่อไป จะมีอยู่ก็แต่การกระทำที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ ... ใช่ไหม? “ใช่ ... ใช่แน่แล้ว”

V   ธรรมะมีหน้าที่เพียงแสดงสัจจะให้มนุษย์ได้ดูได้เห็น 

        หลังจากปฏิบัติตามแนวที่อาจารย์พุทธทาสให้ไว้ อาจารย์รัญจวนได้บันทึกเพื่อเตือนใจผู้ปฏิบัติธรรมรุ่นหลัง ๆ ว่าผู้ปฏิบัติธรรมที่มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในการปฏิบัติจนเกินขนาดของความพอดีนั้น ย่อมเกิดความเคร่งเครียดได้ง่าย ๆ

        เมื่อเคร่งเครียดมากขึ้น ๆ แล้วควบคุมไม่ได้ จิตนั้นจะมีความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ด้วยผิดหวังที่การปฏิบัติไม่เป็นผลตามที่ตั้งใจไว้ ธรรมะก็คือธรรมะ มันทรงตัวอยู่ตามปกติอยู่เช่นนั้นเอง ผู้ปฏิบัติเองต่างหากหรือมิใช่ ที่ไปเรียกร้องสิทธิ เรียกร้องผลของการปฏิบัติจากธรรมะด้วยประการต่าง ๆ

        ธรรมะมีหน้าที่เพียงแสดงสัจจะให้มนุษย์ได้ดูได้เห็นเท่านั้น หากผู้ปฏิบัติหวังผลอย่างใดก็ต้องลงมือกระทำ ลงมือปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วผลหรือประโยชน์นั้นก็จะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยที่ได้กระทำ

 VI  Outstanding Woman in Buddhism จิตวิญญาณของความเป็นครู

        บนเส้นทางของนักปฏิบัติฯ อาจารย์ไม่ได้มุ่งให้ตัวเองหลุดพ้นจากความทุกข์เพียงลำพัง และด้วยจิตวิญญาณของความเป็น “ครู” จึงพยายามจุดประกายธรรมสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบรรยาย เขียนบทความและหนังสือ 

        เพื่อบันทึกประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมและหลักธรรมต่าง ๆ ให้เป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมเดินบนเส้นทางสายนี้ จนได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ โดยรางวัลสำคัญคือ  “Outstanding Woman in Buddhism” เนื่องในวาระวันสตรีสากลโลกขององค์การสหประชาชาติปี 2548

VII   ธรรมมาตา

        ใช่ว่าบุรุษจะเป็นบัณฑิตไปเสียทุกที่ทุกแห่งก็หาไม่, แม้สตรี เมื่อใช้วิจักขญาณอยู่ในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้ วางหลักสูตรโครงการอาศรมธรรมมาตา

        โครงการธรรมาศรมธรรมมาตา เป็นความดำริของท่านพุทธทาสภิกขุ มุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่บุคคล แก่ศาสนา แก่โลก&มนุษยชาติ เพื่อให้เพศแม่ได้มีโอกาสศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรมได้เต็มที่แล้วเผยแผ่และสืบอายุพระพุทธศาสนาได้สูงสุดในลักษณะของธรรมทูตหญิง เป็นการเสริมแทนภิกษุณีบริษัทที่ยังขาดอยู่

        พุทธทาสปรารภเรื่องการจัดการอบรมว่า “เพศหญิงสอนเพศหญิงด้วยกันได้ดีกว่า สะดวกกว่า ผลแนบเนียนกว่า” อาจารย์รัญจวนได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการสวนโมกข์พลารามให้วางหลักสูตรโครงการธรรมาศรมธรรมมาตา

        มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เพศหญิงได้มีโอกาศศึกษาและปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุด โดยจัดให้อยู่ในระดับ ปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด ส่วนที่จะไปได้เพียงใด ขึ้นกับความพากเพียรอุตสาหะ เสียสละของแต่ละคน

        ในการวางหลักสูตร อาจารย์รัญจวนได้ขอคำแนะนำจากครูบาอาจารย์หลายสาย และเชิญแพทย์หญิงเสริมทรัพย์ร่วมกับคณะทำงานวางหลักสูตรโครงการ อันประกอบด้วย วัตถุประสงค์ ธรรมวินัย หลักการตัดสินธรรมวินัย กิจวัตร หลักสูตรการอบรม คุณสมบัติสมาชิก หลักเกณฑ์การคัดเลือก นโยบายการดำเนินงาน ไว้ครบถ้วน

        และนี่คือหลักสูตรธรรมมาตาที่อาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง ฝากไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้สานต่อ เพื่อสร้าง “มารดาแห่งธรรม” และ “ธรรมทูต” ที่ถึงพร้อมด้วยปริยัติสูงสุด ปฏิบัติสูงสุด ปฏิเวธสูงสุด



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น